แคลเซียมคืออะไร?
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย มีอยู่ในกระดูกและฟันถึง 99% ส่วนที่เหลือจะอยู่ในเลือด กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย โดยแคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริมเพื่อรักษาระดับแคลเซียมในร่างกายให้เพียงพอ
ประโยชน์ของแคลเซียมที่มีผลต่อสุขภาพ
-
เสริมสร้างกระดูกและฟัน
แคลเซียมช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูกและฟัน เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนากระดูกในวัยเด็ก รวมทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคกระดูกพรุน
-
การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท
แคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท โดยช่วยส่งสัญญาณประสาท และช่วยในดรื่องการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อ การขาดแคลเซียมอาจทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและปวดได้
-
ช่วยในการแข็งตัวของเลือด
เมื่อเกิดบาดแผล ร่างกายต้องการแคลเซียมในการสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ไฟบริน” เพื่อช่วยในการแข็งตัวของเลือด ซึ่งจะช่วยให้บาดแผลหายเร็วขึ้น และป้องกันการเสียเลือดมากเกินไป
-
ควบคุมการทำงานของหัวใจ
แคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเต้นของหัวใจ ช่วยให้หัวใจเต้นเป็นปกติและมีจังหวะที่สม่ำเสมอ การขาดแคลเซียมในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ตและชีส
- ผักใบเขียว เช่น คะน้า บล็อกโคลี และปวยเล้ง
- ปลา เช่น ปลาแซลมอนและปลาซาร์ดีนที่มีเนื้อและกระดูกอ่อน
- ธัญพืชและเมล็ดพืช เช่น งา เมล็ดทานตะวันและอัลมอนด์
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงขาดแคลเซียม
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการทานแคลเซียม
แม้ว่าแคลเซียมจะมีประโยชน์มากมาย แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมเกิน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนิ่วในไตหรือทำให้เลือดมีความหนืดเกินไป ดังนั้นจึงควรบริโภคแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม
แคลเซียมปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอต่อร่างกาย
- วัยเด็กเล็ก ช่วงอายุ 1 – 8 ปี ควรได้รับแคลเซียม ( 700 – 1,000 ) มิลลิกรัม/วัน
- วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ช่วงอายุ 9 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม ( 1,000 – 1,300 ) มิลลิกรัม/วัน
- ช่วงวัยสูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียม ( 1,200 – 1,300 ) มิลลิกรัม/วัน
ข้อสรุป
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกระดูก ฟัน กล้ามเนื้อ และระบบประสาท การดูแลร่างกายให้ได้รับแคลเซียมเพียงพอจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย